วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

ทดสอบกลางภาคเรียน


๑.กฎหมายคืออะไร จงอธิบาย และการบังคับใช้กฎหมายจะต้องเป็นไปด้วยความเสมอภาคโดยไม่เลือกปฏิบัติหมายความว่าอย่างไร
          กฎหมาย คือ คำสิ่งหรือข้อบังคับที่มาจากรัฐ ซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อใช้ควบคุมความประพฤติของบุคคลซึ่งอยู่ในรัฐหรือในประเทศของตน หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ประพฤติปฏิบัติตาม บุคคลนั้นก็จะมีความผิดและถูกลงโทษ หรือได้รับผลเสียหายนั้นด้วย ซึ่งกฏหมายมีลักษณะเป็นคำสั่ง ข้อห้าม ที่มาจากผู้มีอำนาจสูงสุดในสังคม ที่ใช้บังคับได้โดยทั่วไป หากมีใครฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษหรือสภาพบังคับอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฏหมายได้บัญญัติไว้
            ส่วนการบังคับใช้กฎหมายจะต้องเป็นไปด้วยความเสมอภาคโดยไม่เลือกปฏิบัติ หมายความว่าเป็นกฎ ข้อบังคับที่นำไปใช้บังคับได้กับทุกคน ไม่มีการเลือก ยกเว้น หรือไม่มีใครผู้ใดที่จะอยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับระบบการเมืองการปกครองของไทยที่เป็นระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยมีกฏหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ

๒.การที่กฎหมายกำหนดให้ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผูู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ทั้งของรัีฐ และเอกชน จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ท่านเห็นด้วยหรือไม่เพราะอะไร จงให้เหตุผลประกอบ
             เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะการจัดการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ ย่อมมาจากครู ผู้สอน หรือบุคลากรทางการศึกษาที่ผ่านการศึกษาค้นคว้า เรียนรู้ อบรม และการฝึกฝนทักษะ มีประสบการณ์เฉพาะด้านมาอย่างรอบรู้และแตกฉานในข้อความรู้และข้อปฏิบัตินั้นเป็นอย่างดี จึงควรมีใบประกอบวิชาชีพ ที่เปรียบเสมือนเป็นเครื่องบ่งชี้คุณภาพของครู ผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษาของแต่ละคน เพื่อเป็นการสร้างกรอบทิศทางในการพัฒนาครู ผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้เรียนและผู้ปกครองในการที่จะฝากบุตรหลาน หรือบุคคลในความครอบครองเข้ารับการศึกษากับครูหรือบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพจริงๆในสถานศึกษาต่างๆ

๓.ท่านมีแนวทางในการระดมทุน และทรัพยากรเพื่อการศึกษาในท้องถิ่นของท่านอย่างไรบ้าง อธิบายยกตัวอย่าง
              มีการระดมทุน และทรัพยากรเพื่อการศึกษาในท้องถิ่นจากการศึกษาค้นคว้าประวัติและแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในชุมชน โดยการสอบถามจากคนในชุมชน หรือจากผู้รู้ที่มีอยู่ในชุมชน รวมถึงปราชญ์ชาวบ้านที่มีอยู่ในชุมชน หลังจากนั้นก็จัดทำ หรือคิดพัฒนาเป็นบทเรียนที่บูรณาการข้อความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่างๆเหล่านั้นเข้ากับกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนอย่างเหมาะสม และอาจจะมีการผลิตสื่อต่างๆที่เป็นการประยุกต์ บูรณาการจากทรัพยากรต่างๆที่มีอยู่แล้วในชุมชน ที่สามารถหาได้ง่าย และประหยัดค่าใช้จ่าย เพื่อนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน และนอกจากนี้ก็อาจจะมีการเชิญผู้รู้ หรือผู้เชี่ยวชาญที่มีความชำนาญในด้านต่างๆที่มีอยู่ในชุมชน มาเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่เด็กในห้องเรียนเป็นครั้งคราว เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่ดึงดูดความสนใจของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี
๔.รูปแบบการจัดการศึกษามีกี่รูปแบบอะไรบ้าง และการศึกษาในระบบมีกี่ระดับประกอบด้วยอะไรบ้าง
                การจัดการศึกษาของไทย มี ๓ รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย 

ซึ่งการศึกษาในระบบ มี ๒ ระดับ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐานที่ประกอบด้วย การศึกษาซึ่งจัดไม่น้อยกว่า ๑๒ ปีก่อนระดับอุดมศึกษา และการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งแบ่งออกเป็น๒ระดับ คือ ระดับต่ำกว่าปริญญา และระดับปริญญา

๕.ท่านเข้าใจการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นพื้นฐานเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร อธิบายยกตัวอย่างประกอบ

            การศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นพื้นฐาน เหมือนกันในประเด็นที่ว่า เป็นกระบวนการที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ และมีการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา ความรู้ คุณธรรม จริยธรรม สังคม อารมณ์และจิตใจในการดำรงชีวิต และที่สำคัญ คือเป็นกระบวนการพื้นฐานในการสร้างและพัฒนาคน ให้กเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ แต่มีความแตกต่างกันในระดับชั้น หรือปีของการศึกษา กล่าวคือ
             การศึกษาภาคบังคับ คือ การศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ ๑ ถึงชั้นปีที่ ๙ ของการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ หมายความว่า เป็นการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ -ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓
             การศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ การศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ ๑๐ ถึงชั้นปีที่ ๑๒ ของการศึกษา หมายความว่า เป็นการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
             ตัวอย่าง เช่น เด็กหญิง ก กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ หมายความว่าเด็กหญิง ก กำลังเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับอยู่ และเด็กหญิง ข กำลังเรียนอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ หมายความว่าเด็กหญิง ข เรียนจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว และกำลังเรียนอยู่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
๖.การแบ่งส่วนราชการในส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๓ มีการแบ่งส่วนราชการเป็นอย่างไร และมีใครเป็นหัวหน้าส่วนราชการดังกล่าว อธิบายยกตัวอย่าง
            การแบ่งส่วนราชการในส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้มีหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
(๔) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(๕) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
(๖) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
             ให้คณะกรรมการสภาการศึกษา ประกอบด้วยรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์กรเอกชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ พระภิกษุซึ่งเป็นผู้แทนคณะสงฆ์ ผู้แทนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ผู้แทนองค์กรศาสนาอื่น และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนกรรมการประเภทอื่นรวมกัน
และการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ยึดเขตพื้นที่การศึกษาโดยคำนึงถึง ระดับของการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวนสถานศึกษา จำนวนประชากร วัฒนธรรมและความเหมาะสมด้านอื่นด้วย เว้นแต่การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษาให้รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยคำแนะนำของสภาการศึกษามีอำนาจประกาศในราชกิจจา นุเบกษากำหนดเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งเป็นเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาใน กรณีที่สถานศึกษาใดจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา 
นอกจากนี้การกำหนดให้สถานศึกษาแห่งนั้นอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาใด ให้ยึดระดับการศึกษาของสถานศึกษานั้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานใน กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษาหรือมีเหตุผลความจำเป็น อย่างอื่นตามสภาพการจัดการศึกษาบางประเภท คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานอาจประกาศกำหนด

๗.จงบอกเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๖
            พระราชบัญญัตินี้บัญญัติขึ้นเพื่อเป็นการสร้างบทบัญญัติต่างๆที่เกี่ยวกับการกำหนดบทบาททางด้านสิทธิและเสรีภาพของครู และบุคลากรทางการศึกษา โดยมีการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ การออกและการเพิกถอนใบอนุญาต การกำกับดูแลการปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพครูและจรรยาบรรณของวิชาชีพครู รวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพครูให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียน รวมทั้งมีการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาวิชาชีพ ที่เกิดจากการประสานงาน การส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพครูต่างๆ เพื่อให้เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนและเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้อย่างชัดเจน

๘.ท่านเข้าใจหรือไม่ว่า ถ้ามีบุคลากรไปให้ความรู้หรือสอนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นครั้งคราว หรือไปสอนเป็นประจำ หากพิจารณาจากพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาพ.ศ.๒๕๔๖ถือว่าได้กระทำผิดตาม พรบ.นี้หรือไม่เพราะเหตุใด

            ถ้ามีบุคลากรไปให้ความรู้หรือสอนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นครั้งคราว หากพิจารณาจากพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๖ ถือว่าไม่ได้กระทำผิดตาม พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๖ เพราะถือว่าเข้ามาในฐานะเป็นวิทยากรพิเศษทางการศึกษาและถ้ามีบุคลากรไปให้ความรู้หรือสอนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นประจำ หากพิจารณาจากพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ๒๕๔๖ ถือว่าไม่ได้กระทำผิดตาม พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 เช่นกัน เพราะบางครั้งอาจจะมีบุคคลากรทางการศึกษาที่ไม่ได้ทำหน้าที่หลักในด้านการจัดการเรียนการสอน แต่อาจจะต้องมารับทำหน้าที่การจัดการเรียนการสอนด้วย ซึ่งมีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาพ.ศ.๒๕๔๖ มาตราที่ ๔๒ ส่วนที่ ๕ ที่กล่าวว่า ผู้ที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพหลักทางด้านการเรียนการสอนแต่ในบางครั้งต้องทำหน้าที่สอนด้วย
๙.ท่านเข้าใจความหมายโทษทางวินัย สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อย่างไร อธิบาย และโทษทางวินัยมีกี่สถาน อะไรบ้าง
            โทษทางวินัย คือ โทษที่กำหนดบทลงโทษไว้ตาม กฏหมาย กฏ ข้อบังคับ ระเบียบ และแบบธรรมเนียมที่กำหนดให้ปฏิบัติตามหรืองดเว้นการปฏิบัติ โดยโทษทางวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กำหนดไว้ใน มาตรา ๘๒- มาตรา ๙๗ หมวดที่ ๖ วินัยและการรักษาวินัย พรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑) ซึ่งมี 5 สถาน คือ (๑)ภาคทัณฑ์ (๒) ตัดเงินเดือน (๓) ลดขั้นเงินเดือน (๔) ปลดออก (๕) ไล่ออก ซึ่งหากผู้ใดถูกลงโทษปลดออก ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญเสมือนว่าเป็นผู้ลาออกจากราชการ และมาตรา ๙๗ โดยสรุปเป็นการ ลงโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งให้ทำเป็นคำสั่ง และวิธีการออกคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษให้เป็นไปตามระเบียบของ ก.ค.ศ. ผู้สั่งลงโทษต้องสั่งลงโทษให้เหมาะสมกับความผิดและมิให้เป็นไปโดยพยาบาท โดยอคติหรือโดยมีโทษะจริต หรือลงโทษผู้ที่ไม่มีความผิด ในคำสั่งลงโทษให้แสดงว่าผู้ถูกลงโทษกระทำผิดวินัยในกรณีใด ตามมาตราใด และมีเหตุผลอย่างใดในการกำหนดสถานโทษเช่นนั้น
๑๐.ท่านเข้าใจคำว่า เด็ก เด็กเร่ร่อน เด็กกำพร้า เด็กที่อยู่ในสภาพลำบาก เด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด ทารุณกรรม ที่สอดคล้องกับ พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ อย่างไรจงอธิบาย ตามความเข้าใจของท่าน
            เด็ก คือ บุคคลซึ่งมีอายุน้อยกว่า ๑๘ ปีบริบูรณ์ ซึ่งยังเป็นบุคคลหรือเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่ไม่ได้รวมถึงบุคคลที่อายุน้อกว่า18 ปี ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส

            เด็กเร่ร่อน คือ เด็กที่ไม่มีบิดามารดาหรือผู้ปกครองคอยดูแลเลี้ยงดู หรือมีแต่ไม่ได้อยู่ดูแลหรือเลี้ยงดูซึ่งรวมถึงการมีบิดามารดาหรือผู้ปกครองอยู่แต่ไม่สามารถเลี้ยงดูได้ จนเป็นเหตุให้เด็กไม่มีบ้าน ต้องเร่ร่อนไปในที่ต่าง ๆ หรือเด็กที่มีพฤติกรรมใช้ชีวิตเร่ร่อนจนน่าจะเกิดอันตรายต่อตัวเด็กเอง

             เด็กกำพร้า คือ เด็กที่บิดาหรือมารดาเสียชีวิตและไม่มีผู้ปกครอง รวมถึงเด็กที่ไม่ปรากฏบิดามารดาหรือไม่สามารถสืบหาบิดามารดาได้

             เด็กที่อยู่ในสภาพยากลำบาก คือ เด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนหรือบิดามารดาหย่าร้าง ทิ้งร้าง ถูกคุมขัง หรือแยกกันอยู่และได้รับความลำบาก หรือเด็กที่ต้องรับภาระหน้าที่ในครอบครัวเกินวัยหรือกำลังความสามารถและสติปัญญา หรือเด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

             เด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด คือ เด็กที่ประพฤติตนไม่สมควร เด็กที่ประกอบอาชีพหรือคบหาสมาคมกับบุคคลที่น่าจะชักนำไปในทางกระทำผิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดี หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสถานที่อันอาจชักนำไปในทางเสียหาย ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

             ทารุณกรรม คือ การกระทำใด ๆ ที่เป็นเหตุให้เด็กเสื่อมเสียเสรีภาพหรือเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ การกระทำผิดทางเพศต่อเด็ก การใช้เด็กให้กระทำหรือประพฤติในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจหรือขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น